สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ขอแสดงความยินดีกับนายปรัชญา แวทไธสง นิสิตปริญญาเอกจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) ภายใต้การดูแลของ ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น และผู้ร่วมทีมวิจัยจาก VISTEC (ดร.ฉัตรชัย เกษรพันธุ์, นางสาววิณัฐศฎา พงษ์สุภษะ, ดร.จิตติมา พลบุบผา และ ดร.ธัญญพร วงศ์เนตร) ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล (นางสาวพิไลวรงค์ กมุติรา และ ผศ. ดร.รัชนก ตินิกุล) ผศ. ดร.สมชาติ แม่นปืน (มหาวิทยาลัยบูรพา) Prof. Ryo Nishihara, Prof. Yoshihiro Ohmiya (AIST ประเทศญี่ปุ่น) ที่ตีพิมพ์ผลงาน “Luciferin Synthesis and Pesticide Detection by Luminescence Enzymatic Cascades” ในวารสาร “Angewandte Chemie International Edition” Impact factor 15.34 (Nature index)
ลูซิเฟอริน (Luciferin) เป็นสารมูลค่าสูงที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการเรืองแสงในหิ่งห้อย ปฏิกิริยามีประโยชน์และถูกใช้อย่างกว้างขวางในการงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และงานตรวจวัดต่างๆมากมาย โดยปัจจุบันการสังเคราะห์สารลูซิเฟอรินนั้นอาศัยกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีในการผลิต ซึ่งเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและยุ่งยาก
ทีมวิจัยได้พัฒนาเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายยาฆ่าแมลงและสารพิษกลุ่มฟีนอล โดยสามารถเปลี่ยนสารพิษเหล่านี้ให้กลายเป็นสารลูซิเฟอรินที่มีมูลค่าภายในขั้นตอนเดียว งานวิจัยชิ้นนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าปฏิกิริยาดังกล่าวสามารถเปลี่ยนสารพิษกลุ่มฟีนอล 19 ตัว ไปเป็นสารลูซิเฟอริน 8 ตัว โดยได้สารลูซิเฟอรินตัวใหม่ที่ไม่เคยมีใครสังเคราะห์ได้มาก่อนถึง 2 ตัว และมีความพิเศษคือให้แสงสีแดง (Red-shift) และสว่างมากกว่าสารลูซิเฟอรินที่พบในธรรมชาติ
นอกจากนั้นทีมวิจัยได้พัฒนาต่อยอดปฏิกิริยาดังกล่าวให้เป็นเทคโนโลยีตรวจวัดที่เรียกว่า LUMOS ซึ่งสามารถตรวจวัดการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงในอาหาร (ผักและผลไม้) ได้โดยตรง และสามารถตรวจวัดการตกค้างของยาฆ่าแมลงในระดับการปนเปื้อนที่ต่ำ (part per trillion, ppt)
สามารถเข้าไปอ่านงานวิจัยฉบับบเต็มได้ที่: https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/anie.202116908
#VISTEC